โชว์นวัตกรรมสิงประดิษฐ์ เมืองทองธานี

เมื่อเร็วๆนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีได้รับคัดเลือกผลงาน เข้าร่วม งานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ได้จัดกิจกรรม ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติเมืองทองธานี ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมนำทิศ สิ่งประดิษฐ์นำทาง สร้างไทยมั่นคง" เพื่อชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงและยั่งยืนของการนำสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำการจัดแสดงผลงานและร่วมเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 6 ผลงานได้แก่ สิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเข้าประกวด 2 ผลงาน ได้แก่ รถไถนาบนพื้นที่สูง เครื่องคัดแยกข้าวลีบและเศษปลอมปนในพันธุ์ข้าวเปลือกอัตโนมัติ สิ่งประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก ส่งเข้าประกวด 1 ผลงาน ได้แก่เครื่องชาร์จแบตเตอรี่เอนกประสงค์ด้วยพลังงานกล ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ สื่อการเรียนการสอนสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, สื่อการเรียนออนไลน์เชิงบูรณาการเพื่อก้าวสู่อาเซียน และสื่อการเรียนการสอนคำศัพท์พื้นฐานสำหรับวิชาชีพอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร ถือเป็นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ทางวิทยาลัยเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีผู้ที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปใช้สำหรับการเรียนการสอน ตลอดจนผลงานประเภทเครื่องจักรกลทางการเกษตร มีผู้สนใจนำไปเป็นสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบเพื่อการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และอีกหนึ่งสิ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ คือ รถไถนาบนพื้นที่สูง คิดเพื่อชาวนาบนดอย โดยได้รับตีพิมพ์ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ของสำนักพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 เป็น ผลงานของนักศึกษาแผนกวิชาช่างยนต์ โดยมีสมาชิก ดังนี้ นายอาหื่อ แชพะกู่,นายปฏิพงษ์ จันสีมา, นายเจษฎา หน่อแก้ว และ นายอัศวิน ทองคำ อาจารย์ที่ปรึกษาประกอบด้วย อาจารย์ปานประทีบ แสงเมือง และ อาจารย์กิ่งกาญจน์ อินวงศ์ สำหรับในส่วนที่มาของการประดิษฐ์เครื่องไถนาบนพื้นที่สูงนั้น เกิดขึ้นเพราะทีมนักศึกษา ผู้ประดิษฐ์ได้ดำเนินการสำรวจชุมชนต่างๆ ที่มีพื้นที่ที่มีความห่างไกล โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงและทุรกันดาร อย่างที่ชุมชนเผ่าอาข่า บ้านดอยงาม จังหวัดเชียงราย พบว่า ยังมีการทำเกษตรแบบเดิม คือเน้นไปที่ใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์ ในขณะที่เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีการนำเข้ามาใช้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริงในสภาพพื้นที่จริง ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชแบบขั้นบันได จากข้อมูลที่ได้จึงนำมาซึ่งการประดิษฐ์วิจัยเพื่อให้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง และได้กลายเป็นที่มาของผลงานสิ่งประดิษฐ์รถไถนาบนพื้นที่สูงเครื่องนี้ ในส่วนของความโดดเด่นของรถไถนาบนพื้นที่สูงที่คณะนักศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีเมโทร ได้ผลิตออกมานั้นคือ ตัวรถไถมีขนาดเล็ก กว้างยาวเพียง 70x150 เซนติเมตร ขนาดของเครื่องยนต์ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 5 แรงม้า ซึ่งโดยปกติจะใช้ที่ขนาด 8-12 แรงม้า อีกทั้งแขนบังคับเลี้ยวมีขนาดเพียง 100 เซนติเมตร ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเกียร์เดินหน้าและถอยหลัง ที่ติดตั้งบนแขนบังคับได้ง่าย ที่น่าสนใจอีกประการคือ วงล้อเหล็ก ใช้เหล็กวงล้อแบบรัดแผ่นกรีบที่มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 23 นิ้ว มีระบบบังคับเลี้ยวที่ไม่ต้องใช้แรงมากในการบังคับ ในขณะที่การใช้งานก็สะดวก สามารถวิ่งได้เร็วกว่ารถไถนาทั่วไป มีน้ำหนักเบา สามารถถอดชิ้นส่วนประกอบได้ มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันน้อย เนื่องจากตัวโครงสร้างมีน้ำหนักเบา ทำให้ประหยัดแรงงานของเครื่องยนต์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การใช้งานสามารถเป็นไปได้อย่างสะดวกคล่องแคล่วในพื้นที่การเกษตรที่เป็นไหล่เขา การเพาะปลูกที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได มีความคับแคบ สำหรับผู้สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที อ.ปานประทีป แสงเมือง โทร 087-1846411 หรือวิทยาลัยเทคโนโลยีเมโทร โทร. (053) 282-080